คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยความร่วมมือกับ The King Salman Global Academy for Arabic Language แห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับในประเทศไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะการสอนภาษาอาหรับให้แก่ครูผู้สอนภาษาอาหรับในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ระหว่างวันที่ 24-27 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดความร่วมมือด้านภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศชั้นนำทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และมีการใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ทำให้ภาษาอาหรับได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และมีบทบาทที่สำคัญในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการ การท่องเที่ยว และส่งออก สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับในทุกระดับชั้น เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนจนกระทั่งถึงระดับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจและมีความต้องการต่อยอดความรู้และประสบการณ์การศึกษาภาษาอาหรับในต่างประเทศ ดังนั้นครูผู้สอนภาษาอาหรับก็มีความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะการสอนภาษาอาหรับให้แก่ครูผู้สอนภาษาอาหรับในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทฤษฎีการสอน รูปแบบการสอน และสื่อประกอบการสอนสมัยใหม่ที่ใช้สอนภาษาที่สอง เพื่อฝึกทักษะในการเตรียมบทเรียน และกิจกรรมในการสอนภาษาโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย เพื่อการพัฒนาทัศนคติเชิงวิพากษ์ของผู้เข้าร่วมโดยใช้วิธีการสะท้อนและวิจารณ์ตนเอง วิเคราะห์และประเมินประสบการณ์ของผู้อื่น เพื่อพัฒนาสู่ในเชิงบวก และเพื่อแนะนำทรัพยากร วารสาร และองค์กรที่ช่วยพัฒนาความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านวิชาชีพ สำหรับการอบรมในครั้งนี้ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาทักษะการสอนภาษาอาหรับแก่ผู้สอนภาษาอาหรับ โดยให้มีกิจกรรมทั้งที่เป็นภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับ ผ่านการอบรมในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวข้อภาษาศาสตร์ภาษาอาหรับ หัวข้อการเปรียบเทียบทางภาษา และการวิเคราะห์ข้อผิดพลาด หัวข้อประเด็นปัญหาในการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับ เป็นต้น